บทที่ 8 ความหมายของจริยธรรม (Ethics)
หน่วยที่ 8 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับจริยธรรม
8.1  ความหมายของคุณธรรมและจริยธรรม

           จริยธรรม หมายถึง ความประพฤติปฏิบัติที่มีธรรมะเป็นตัวกำกับ  จริยธรรมก็คือ ธรรมที่เป็นไป ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ ศีลธรรม กฎศีลธรรม ( พระเทวินทร์ เทวินโท, 2544)
จริยธรรม ในความหมายของ สุนทร โคตรบรรเทา (2544) กล่าวว่า ถ้าจะตีความแคบ ๆ จริยธรรมคงหมายถึง ศีลธรรมประการหนึ่งและคุณธรรมอีกประการหนึ่งรวมเป็นสองประการด้วยกัน
นอกจากนี้ วริยา ชินวรรโณ (2546) ได้ประมวลความหมายของคำว่าจริยธรรม ตามที่บุคคลต่าง ๆ ได้กล่าวไว้ ดังนี้
พระราชชัยกวี (ภิกขุพุทธทาส อินทปัญโญ) กล่าวว่า จริยธรรมเป็นสิ่งพึงประพฤติ จะต้องประพฤติ ส่วนศีลธรรม นั้น คือสิ่งที่กำลังประพฤติอยู่หรือประพฤติดีแล้ว
วิทย์ วิศทเวทย์ อธิบายว่า จริยธรรมคือความประพฤติตามค่านิยมที่พึงประสงค์
สาโรช บัวศรี ให้ความหมายของจริยธรรมว่า คือ หลักความประพฤติที่อบรมกิริยาและปลูกฝังลักษณะนิสัยให้อยู่ในครรลองของของคุณธรรมหรือศีลธรรม
สุลักษณ์ ศิวรักษ์ กล่าวว่า จริยธรรม คือสิ่งที่คนในสังคมเกิดความเชื่อถือซึ่งมีตัวตนมาจากปรมัตถสัจจะ
ก่อ สวัสดิพาณิชย์ กล่าวว่า จริยธรรม ประมวลความประพฤติและความนึกคิดในสิ่งที่ดีงามและเหมาะสม
จากความหมายของทั้งสองคำดังกล่าว พบว่ามีความใกล้เคียงกันเป็นอย่างมากจึงมักเป็นคำที่ใช้คู่กัน แต่อย่างไรก็ตามสรุปได้ว่าการมีคุณธรรมและจริยธรรมของบุคคลทั้งในการดำรงชีวิตประจำวันและในการทำงานหรือการประกอบวิชาชีพจะส่งผลให้บุคคลมีความสุขในการอยู่ร่วมกันในสังคม

8.2 จริยศาสตร์กับศีลธรรม และจริยธรรม

คำว่า “จริยศาสตร์” เป็นคำศัพท์สันสกฤต แยกออกได้เป็น 2  คำ คือ จริยะ แปลว่า ความประพฤติ และคำว่า ศาสตร์ แปลว่า ความรู้ หรือ วิชา
จริยศาสตร์จึงมีความหมายว่า วิชาที่ว่าด้วยความประพฤติ   แปลมาจากศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Ethics   ซึ่งมาจากคำในภาษากรีกว่า Peri  ethikesโดยมีรากศัพท์มาจากคำว่า Ethos แปลว่า ขนบธรรมเนียม  ภาษาละตินทับศัพท์กรีกว่า Ethica แปลว่า  จริยศาสตร์  มีชื่อเรียกหลายอย่าง เช่น Moral Philosophy ปรัชญาศีลธรรม  Ethical Philosophy ปรัชญา  จริยะ
ดังนั้น สรุปว่า จริยศาสตร์ เป็นวิชาที่ว่าด้วยความดี ความชั่ว ความถูก ความผิด สิ่งที่ควรเว้น สิ่งที่ควรทำ   หมายถึง  The science of morals ; the principles of morality ; rules of conduct and behaviour   แปลว่า   ศาสตร์ที่ว่าด้วยศีลธรรม  หลักศีลธรรม กฎที่ว่าด้วยความประพฤติและพฤติกรรม
จริยธรรม หมายถึง คุณสมบัติทางความประพฤติ ที่สังคมมุ่งหวังให้คนในสังคมนั้นประพฤติ มีความถูกต้องในความประพฤติ มีเสรีภาพภายในขอบเขตของมโนธรรม (Conscience) เป็นหน้าที่ที่สมาชิกในสังคมพึงประพฤติปฏิบัติต่อตนเอง ต่อผู้อื่น และต่อสังคม ทั้งนี้เพื่อก่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองขึ้นในสังคม การที่จะปฏิบัติให้เป็นไปเช่นนั้นได้ ผู้ปฏิบัติจะต้องรู้ว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด

8.3 ประโยชน์ของจริยธรรม

1. มีความเพียรพยายามประกอบความดี
2. เป็นผู้ที่มีความ ซื่อสัตย์สุจริต และเมตตากรุณา
3. เป็นผู้มีสติปัญญา ไม่ประมาท
4. เป็นผู้ใฝ่หาความรู้ ความสามารถในการประกอบอาชีพ
5. มีความอุตสาหะ
6. มีความเสียสละไม่เห็นแก่ตัว
7. มีความสามัคคี
8. มีความรับผิดชอบ
9. มีความกตัญญูกตเวที
10. มีความประหยัด
11. มีความรู้จักพอ
12. มีความเป็นระเบียบวินัย
13. มีความอดทนอดกลั้น
14. มีความถ่อมตน
15. เคารพตนเอง
16. มีสติสัมปชัญญะ

8.4 ระดับชั้นของจริยธรรม

       พุทธจริยศาสตร์เป็นหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ เพื่อเป็นมาตรฐานความประพฤติของมนุษย์ โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่
1. พุทธจริยศาสตร์ระดับต้น บัญญัติไว้เพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม หลักธรรม คือ ศีล 5 ธรรม 5 ทิศ 6 เป็นต้น
2. พุทธจริยศาสตร์ระดับกลาง บัญญัติไว้เพื่อให้ทุกคนประพฤติปฏิบัติอบรมขัดเกลาตนเองให้มีคุณธรรมสูงขึ้น หลักธรรม คือ ศีล 5 กุศลกรรมบถ 10
3. พุทธจริยศาสตร์ระดับสูง เป็นจริยศาสตร์เพื่อพัฒนาตนเป็นอริยบุคคล หลักธรรม คือ มรรค 8

      ส่วนหัวใจสำคัญของพุทธจริยศาสตร์ หรือหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนาก็คือ
1. ไม่ทำชั่วทั้งปวง
2. ทำกุศลคือความดีให้พรั่งพร้อม
3. ทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว
วศิน อินทสระ (2541 : 11-12) กล่าวว่าพุทธจริยศาสตร์นั้นเป็นหลักเกณฑ์ทางจริยธรรม ซึ่งท่านผู้รู้มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ได้ทรงวางไว้ เพื่อเป็นมาตรฐานความประพฤติของมนุษย์ ตั้งแต่พื้นฐานเบื้องต้น ท่ามกลางและระดับสูง เพื่อให้มนุษย์ดำเนินชีวิตอันดีงามตามอุดมคติเท่าที่มนุษย์จะขึ้นให้ถึงได้ ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์มีสติปัญญา มีความสุขอันสมบูรณ์ที่สุด เพราะจริยศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยอุดมคติของชีวิต หรือความดีอันสูงสุด (supreme good )เพื่อขึ้นให้ถึงความดีงามอันสูงสุดนั้น จะต้องมีปฏิปทา (path : way : method) สำหรับดำเนิน คือ เป็นการสร้างเหตุบรรลุผล ถ้าต้องการผลอันสูงสุดก็ต้องสร้างเหตุให้สมควรกัน พุทธศาสนาเป็นกัมวาทะ กิริยวาทะ
วิริยวาทะ กล่าวคือการกระทำ และความเพียรเป็นเบื้องต้นแห่งความสำเร็จผลทั้งปวง ไม่ประสงค์ให้ใครได้ดี หรือประสงค์ความสำเร็จลอย ๆ หรือด้วยการอ้อนวอน แต่ให้สำร็จด้วยการกระทำเอง พระพุทธศาสนาจึงได้รับการยกย่องจากนักปราชญ์ชาวต่างประเทศบางคนว่า A – Self - do – it –Religion (ศาสนาที่ต้องทำเอง)

หลักจริยธรรมของพระพุทธศาสนา 3 ระดับดังกล่าวข้างต้นมีรายละเอียดดังนี้
พุทธจริยธรรมขั้นพื้นฐาน เพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม หลักธรรม คือ เบญจศีลเบญจธรรม ได้แก่
เบญจศีล เบญจธรรม
1. เว้นจากการฆ่าสัตว์ - มีเมตตากรุณา
2. เว้นจากการลักทรัพย์ - เลี้ยงชีวิตในทางที่ถูกต้อง
3. เว้นจากการประพฤติผิดในกาม - มีความสำรวมในกาม
4. เว้นจากการพูดเท็จ - พูดแต่คำสัตย์
5. เว้นจากการดื่มสุราเมรัย - มีสติ รักษาตนไว้เสมอ

ทิศ 6 หรือมักเรียก ทิศทั้ง 6 หมายถึง บุคคล 6 ส่วน ที่เกี่ยวข้องกับตัวเราในสังคม และการดำเนินชีวิต ได้แก่

  1. ปุรัตถิมทิส หมายถึง ทิศเบื้องหน้า คือ บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย และผู้มีอุปการะอื่นๆที่เลี้ยงดูเรามาในเบื้องหน้า
  2. ทักขิณทิส หมายถึง ทิศเบื้องขวา คือ ครูบาอาจารย์ที่พร่ำสอนวิชาในเบื้องขวา
  3. ปัจฉิมทิส หมายถึง ทิศเบื้องหลัง คือ บุตร ผู้เป็นทาญาติ ภรรยา และสามี ผู้เป็นคู่ชีวิต ที่คอยให้กำลังใจในเบื้องขวา
  4. อุตตรทิส หมายถึง ทิศเบื้องซ้าย คือ มิตรสหายที่คอยช่วยเหลือครั้นเมื่อตกทุกข์ได้ยากในเบื้องซ้าย
  5. อุปริมทิส หมายถึง ทิศเบื้อล่าง คือ บริวารหรือผู้รับใช้ที่คอยปรนนิบัติในเบื้องล่าง
  6. เหฏฐิมทิส หมายถึง ทิศเบื้องบน คือ สามเณร ภิกษุ ภิกษุณีผู้มีศีลอันสูงกว่าที่คอยพร่ำสอนธรรมในเบื้องบน

ความสำคัญ และแนวทางปฏิบัติต่อทิศทั้ง 6
1. ทิศเบื้องหน้า (บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย)
ทิศเบื้องหน้า ในตำราแต่ก่อนระบุเพียงบิดามารดาผู้ที่ให้กำเนิด และเลี้ยงดูส่งเสียเรามาจนเติบใหญ่ แต่ในความจริงแล้วทิศเบื้องหน้ายังหมายถึงบุคคลอื่นที่คอยอุปการะเลี้ยงดูเราให้เติบใหญ่ นั่นหมายความรวมถึงปู่ย่า ตายายหรือบุคคลอื่นที่เป็นญาติเราด้วยเช่นกัน เพราะสังคมปัจจุบันนี้ ทิศเบื้องหน้าที่เป็นบิดามารดาอาจไม่ใช่ผู้ที่คอยเลี้ยงดูส่งเสียเราให้เติบใหญ่ก็ได้ ดังนั้นแล้ว ผู้ที่มีอุปการะต่อการเลี้ยงดูส่งเสียเราจึงจัดเป็นผู้ที่อยู่ในทิศเบื้องหน้าด้วยเช่นกัน
ทิศเบื้องหน้า
ทิศเบื้องหน้ามีอุปการะต่อเรา คือ
1. เลี้ยงดูให้เติบใหญ่
2. อบรมสั่งสอนไม่ให้ประพฤติชั่ว
3. อบรมสั่งสอนให้กระทำแต่ความดี
4. อบรมให้ความรู้ ให้ปัญญา
5. อุปการะทรัพย์สิน เงินทอง
6. ส่งเสียให้สำเร็จการศึกษา
7. หาคู่ครองอันเหมาะสมให้ (ข้อนี้ปัจจุบันมีบทบาทน้อยมาก เพราะส่วนมากเป็นการตัดสินใจของคู่สามีภรรยากันเอง)
– ฯลฯ
แนวทางปฏิบัติต่อทิศเบื้องหน้า
1. พึงอุปการะเลี้ยงดูท่านเมื่อยามแก่เฒ่า
2. ดำเนินในกุศลธรรม และอุทิศส่วนบุญให้แก่ท่านเมื่อล่วงลับไปแล้ว
3. ช่วยกิจการงานของท่านอย่างมั่นเพียร
4. ประพฤติตน และดำรงอยู่ในศีลธรรมอันงาม รักษาชื่อเสียงวงศ์ตระกูลอยู่เป็นนิจ
5. ใช้ทรัพย์ที่ท่านมอบให้อย่างรู้เห็นคุณค่า
– ฯลฯ

2. ทิศเบื้องขวา (ครูบาอาจารย์)
ทิศเบื้องขวา คือ ครูบาอาจารย์ที่เป็นผู้สอนหนังสือวิชาในวัยเรียน นอกจากนั้น ยังหมายรวมถึงบุคคลต่างๆที่คอยสอน คอยอบรม ให้ความรู้แก่เราที่มิใช่ผู้สอนในห้องเรียนด้วยเช่นกัน
ครูอาจารย์
ทิศเบื้องขวาอุปการะต่อเรา คือ
1. ฝึกฝนให้เป็นคนดี ไม่ประพฤติในความชั่ว
2. อบรม สอนวิชาให้รู้แจ้ง
3. ให้วิชา และแนะแนวทางดำเนินชีวิต
4. ยกย่องเมื่อเป็นเลิศในวิชาแก่หมู่ชน
– ฯลฯ
แนวทางปฏิบัติต่อทิศเบื้องขวา
1. ให้ความเคารพต่อครูบาอาจารย์
2. เชื่อฟังในคำสอน
3. คอยช่วยกิจการงานสอน
4. บำรุงท่าน บำรุงสถานศึกษาตามโอกาส
– ฯลฯ

3. ทิศเบื้องหลัง (บุตร ภรรยา และสามี)
ทิศเบื้องหลัง คือ บุตร ผู้เป็นทาญาติสืบสายโลหิต และภรรยา และสามี ผู้เป็นคู่ชีวิต บุคคลเหล่านี้ เป็นคนสำคัญที่คอยให้การสนับสนุน คอยส่งเสริม และให้กำลังใจอยู่เบื้องหลัง นอกจากนั้น ยังหมายรวมถึงบุคคลที่อยู่ในทิศอื่นๆที่มิใช่บุตร ภรรยา และสามี แต่ปฏิบัติตนคอยอุปการะเสมือนเป็นบุตร ภรรยาหรือสามี อาทิ ปู่ย่า ตายาย คูบาอาจารย์ เป็นต้น
ทิศเบื้องหลัง
ทิศเบื้องหลังผู้เป็นภรรยาที่มีอุปการะต่อเรา และควรปฏิบัติต่อเรา คือ
1. ไม่ประพฤตินอกใจ
2.ไม่ดูหมิ่นในวงศ์ตระกูลของสามี
3. จัดการงานเรือนให้ครบพร้อม
4. ต้อนรับขับสู้ญาติมิตรแขกเรื่อ
5. ช่วยรักษาทรัพย์ของสามีให้คงอยู่
6. ช่วยแบ่งเบาภาระในการงาน
7. คอยให้การสนับสนุน และเป็นกำลังใจ
– ฯลฯ
ทิศเบื้องหลังผู้เป็นสามีที่มีอุปการะต่อเรา และควรปฏิบัติต่อเรา คือ
1. ไม่ประพฤตินอกใจ
2. เป็นผู้นำ และเสาหลักของครอบครัว ทั้งในการหาทรัพย์ และเลี้ยงดูครอบครัว
3. ไม่ดูหมิ่นในวงศ์ตระกูลของสามี
4. ปกป้องเราเมื่อยามมีภัย
5. นำเราไปสู่ความเจริญ
6. คอยเป็นกำลังใจ และส่งเสริมในกิจการงานที่ดี
7. มอบความรัก และมอบเครื่องอาภรตามวาระโอกาส
– ฯลฯ
ทิศเบื้องหลังผู้เป็นบุตรที่มีอุปการะต่อเรา และควรปฏิบิติต่อเรา คือ
1. สืบทอดสายเลือด และดำรงวงศ์ตระกูลให้คงอยู่
2. ดูแลเราในยามแก่เฒ่า
3. ช่วยในกิจการงานให้รุ่งเรือง
4. ช่วยแบ่งเบาภาระในงานเรือน
5. เป็นดวงใจคอยประสานแก่บิดามารดา
– ฯลฯ
4. ทิศเบื้องซ้าย (มิตรสหาย)
ทิศเบื้องซ้าย คือ มิตรสหายทั้งที่เป็นมิตรสหายร่วมทุกข์ร่วมสุข หรือ มิตรสหายในการงาน บุคคลเหล่านี้เป็นผู้คอยช่วยเหลือในยามประสบปัญหา และอุปสรรค คอยช่วยเหลือเกื้อกูล ดึงรั้งมือให้พ้นจากสิ่งเหล่านั้น
ทิศเบื้องซ้าย
ทิศเบื้องซ้ายมีอุปการะต่อเรา คือ
1. เป็นผู้คอยช่วยเหลือเกื้อกูลเรา
2. เป็นผู้คอยช่วยเหลือเราในยามตกทุกข์ได้ยาก
3. เป็นผู้ให้คำปรึกษา และข้อเสนอแนะในทุกด้าน
– ฯลฯ
แนวทางปฏิบัติของผู้นำต่อทิศเบื้องซ้าย
1. ให้เกียรติซึ่งกันและกัน
2. วางตนให้สม่ำเสมอต่อกัน ไม่ข่มเหงรังเกมิตร
3. คอยช่วยเหลือเกื้อกูลเมื่อมิตรตกทุกข์ได้ยาก
4. ให้ความเป็นมิตรที่จริงใจ ทั้งกาย วาจา และใจ
– ฯลฯ

5. ทิศเบื้อล่าง (บริวารหรือผู้รับใช้)
ทิศเบื้อล่าง คือ ผู้ที่เป็นบริวารที่คอยรับใช้หรือทำกิจให้เรา รวมถึงผู้ใต้บังคับบัญชาของเราด้วยเช่นกัน บริวารเหล่านี้ ได้แก่ ผู้รับใช้ คนงาน ผู้ที่มีตำแหน่งต่ำกว่า เป็นต้น ดังนั้น บุคคลเหล่านี้ จึงถือว่าเป็นผู้ ที่อยู่ด้านล่างภายใต้การปกครองหรือการบังคับบัญชาของเรา
โลกธรรม
ทิศเบื้องล่างมีอุปการะต่อเรา คือ
1. เป็นผู้คอยช่วยเหลือกิจการงาน
2. เป็นผู้แสวงหาทรัพย์ และลาภมาสู่ตน
3. ปกป้อง คุ้มภัยให้แก่ตน
4. คอยดูแลทรัพย์สินให้แก่ตน
– ฯลฯ
แนวทางปฏิบัติของผู้นำต่อทิศเบื้องล่าง
1. จัดการงานให้เหมาะสมแก่คน และแก่งาน
2. ให้ความเป็นธรรมแก่บริวารทั้งปวง
3. มอบค่าตอบแทนด้วยความเป็นธรรม
4. มอบอาหาร และน้ำดื่มอย่างสม่ำเสมอ
5. ให้รางวัลเพื่อเป็นกำลังใจเป็นนิจ
6. ไม่เอารัดเอาเปรียบในทุกด้าน
7. รักษาพยาบาลเมื่อเกิดยามเจ็บไข้
– ฯลฯ
แนวทางปฏิบัติของบริวารต่อผู้นำ
1. มาทำงานรับใช้อย่างสม่ำเสมอ
2. มีความขยันมั่นเพียร และคอยรับใช้หรือทำกิจให้ด้วยความจริงใจ
3. มีความชื่อสัตย์ ไม่คดโกงผู้เป็นนาย
4. ให้ความเคารพ และเชื่อฟังในคำสั่ง
5. แสวงหาแต่ประโยชน์ให้แก่ท่าน
– ฯลฯ

6. ทิศเบื้องบน (สามเณร ภิกษุ ภิกษุณี)
ทิศเบื้องบน คือ ผู้ที่รักษาศีลมากกว่าเรา ซึ่งเราในที่นี้หมายถึงฆราวาสที่ไม่ใช่นักบวช ผู้ที่รักษาศีลที่สูงกว่านี้ ได้แก่ สามเณร ภิกษุ ภิกษุณี (ภิกษุณีปัจจุบันไม่มีการบวชให้แล้ว) จึงถือเป็นผู้ที่ควรแก่การสักการะให้เหนือกว่าตน
ทิศเบื้องบน
ทิศเบื้องบนมีอุปการะต่อเรา คือ
1. เป็นผู้สั่งสอนธรรมให้รู้แจ้ง
2. เป็นผู้ยังซึ่งกุศลกรรมให้เกิดแก่เรา ให้เกิดแก่ญาติมิตร ให้เกิดแก่ผู้มีพระคุณที่ล่วงลับไป
3. เป็นให้ข้อเสนอแนะแนวทางต่อความสำเร็จในการดำเนินชีวิต
4. ช่วยค้ำชูให้เราดำรงอยู่ในศีลธรรม ป้องกันมิให้ตกอยู่ในอบายมุข
– ฯลฯ
แนวทางปฏิบัติต่อทิศเบื้องบน
1. ให้ทานทรัพย์สิน อาหาร และปัจจัยอื่นๆแก่ท่าน
2. ช่วยเผยแพร่ และทะนุบำรุงพระศาสนาให้ดำรงอยู่
3. ก่อสร้าง และบำรุงอาคารสถานให้เพียงพอ และคงอยู่ยืนยาวในพระศาสนา
4. นำพระธรรม คำสอนมาปฏิบัติอยู่เป็นนิจ
– ฯลฯ


พุทธจริยธรรมระดับกลาง เพื่อให้บุคคลขัดเกลาตนเองให้มีคุณธรรมสูงขึ้น หลักธรรม คือ ศีล 8 กุศลกรรมบถ 10 มีรายละเอียดดังนี้
ศีล 8 หรือ อัฎฐศีล การรักษาระเบียบทางกาย วาจา ให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป
1. เว้นจากทำร้ายร่างกายผู้อื่นและสัตว์ทั้งหลาย
2. เว้นจากถือเอาของที่เขามิได้ให้
3. เว้นจากประพฤติผิดพรหมจรรย์ คือเว้นจากร่วมประเวณี
4. เว้นจากพูดเท็จ
5. เว้นจากของเมา คือ สุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
6. เว้นจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาล คือเที่ยงแล้วไป
7. เว้นจากฟังฟ้อนรำ ขับร้อง ดนตรี ทัดทรงดอกไม้ ใส่ของหอม
8. เว้นจากที่นอนอันสูงใหญ่หรูหรา ฟุ่มเฟือย

กุศลกรรมบถ 10 ทางแห่งกุศล กรรมดีอันเป็นทางนำไปสู่สุคติ จำแนกเป็นการประพฤติผิดทางกาย 3 วาจา 4 และ ทางใจ 3 ดังนี้
กายกรรม การกระทำทางกาย มี 3 ข้อ คือ
1. เว้นจากการทำชีวิตสัตว์ให้ล่วงไป
2. เว้นจากการถือเอาของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ - ขโมย
3. เว้นจากการประพฤติผิดลูกเมียคนอื่น
วจีกรรม การกระทำทางกาย มี 4 ข้อ คือ
4. เว้นจากการพูดเท็จ
5. เว้นจากการพูดส่อเสียด
6. เว้นจากการพูดคำหยาบ
7. เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
มโนกรรม การกระทำทางกาย มี 3 ข้อ คือ
8. ไม่โลภอยากได้ของเขา
9. ไม่พยาบาทปองร้ายเขา
10. ทำความเห็นให้ถูกต้องตามครรลองครองธรรม

พุทธจริยธรรมระดับสูง คือ จริยธรรม เพื่อพัฒนาคนเป็นอริยชน มี อริยมรรค 8 ได้แก่
1. สัมมาทิฐิ ความเห็นถูกต้องตามครรลองครองธรรม เช่น ความรู้เห็นอริยสัจ 4
2. สัมมาสังกัปปะ ความคิดถูกต้อง ไม่พยาบาท ไม่เบียดเบียน
3. สัมมาวาจา เจรจาในสิ่งที่เป็นความจริง ประสานสามัคคีอ่อนหวาน มีประโยชน์
4. สัมมากัมมันตะ การเว้นจากการกระทำไม่ดี เช่น การฆ่า การเบียดเบียน การลักทรัพย์
5. สัมมาอาชีวะ การเว้นมิจฉาชีพทุกรูปแบบ ประกอบอาชีพสุจริต
6. สัมมาวายามะ ทำความเพียร เช่นเพียรระวังอกุศลทุกรูปแบบ เพียรให้กุศลเกิดขึ้น
7. สัมมาสติ ความระลึกชอบ คือ ระลึกแล้วเกิดสติสมบูรณ์ กลายเป็นปัญญา
8. สัมมาสมาธิ การตั้งจิตมั่นในอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่หวั่นไหว ไม่ฟุ้งซ่าน

หลักคำสอนและแนวคิดของศาสดา และนักปราชญ์ทั้งหลายที่กล่าวมาแล้ว ล้วนมีจุดมุ่งหมายอย่างเดียวกัน คือให้มนุษย์กระทำความดี ละเว้นความชั่ว ให้ปฏิบัติต่อกันอย่างมีคุณธรรม ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสันติสุข การศึกษาคุณธรรมจริยธรรม จะต้องศึกษาถึงที่มา หลักการ แนวคิดทางศาสตร์ของจริยธรรมที่มนุษย์ได้ศึกษา และปฏิบัติกันมาตั้งแต่โบราณ เพราะแนวคิดหลักการเหล่านี้เป็นพื้นฐานของความเข้าใจในคุณธรรมจริยธรรม ซึ่งทุกศาสนามีความเป็นเอกลักษณ์แตกต่างกันไป อันเป็นที่มาของความเชื่อ และพฤติกรรมที่แสดงออกของคนในกลุ่มต่างกันด้วย เป็นการช่วยให้มนุษย์ต่างชาติต่างเผ่าพันธุ์มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน อันเป็นผลให้เกิดความผาสุกในมวลมนุษยชาติ.
ลักษณะพิเศษของหลักธรรมในพระพุทธศาสนา
“...ธรรมในพระพุทธศาสนามีความหมดจดบริสุทธิ์
และสมบูรณ์บริบูรณ์ด้วยเหตุผล
ซึ่งบุคคลจะสามารถศึกษาและปฏิบัติด้วยปัญญา
ด้วยความเพ่งพินิจให้เกิดประโยชน์ คือความสำคัญ
ความผาสุกแก่ตนโดยอย่างเที่ยงแท้
ตั้งแต่ประโยชน์ขั้นพื้นฐาน
คือการตั้งตัวให้เป็นปรกติสุข
จนถึงประโยชน์นั้นปรมัตถ์
คือหลุดพ้นจากเครื่องเกาะเกี่ยวร้อยรัดทุกประการ
ข้อนี้เป็นลักษณะพิเศษในพระพุทธศาสนา
ซึ่งทำให้พระพุทธศาสนามีค่าประเสริฐสุด...”

8.5 จริยธรรมมีลักษณะ


จริยธรรมมีลักษณะ 4 ประการ คือ
  1. การตัดสินทางจริยธรรม(moral judgment) บุคคลจะมีหลักการของตนเอง เพื่อตัดสินการกระทำของผู้อื่น
  2. หลักการของจริยธรรมและการตัดสินตกลงใจเป็นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในตัวบุคคลก่อนที่จะปฏิบัติการต่าง ๆ ลงไป
  3. หลักการทางจริยธรรมเป็นหลักการสากลที่บุคคลใช้ตัดสินใจในการกระทำสิ่งต่าง ๆ
  4. ทัศนะเกี่ยวกับจริยธรรมได้มาจากความคิดของบุคคลหรืออุดมคติของสังคมจนเกิดเป็นทัศนะในการดำรงชีวิตของตน และของสังคมที่ตนอาศัยอยู่


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น